วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แบบเสนอหัวข้อปัญหาพิเศษ

 ผู้เสนอ             :  นางธัญญรัตน์  แสนสุข   
 ชื่อภาษาไทย    :  การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต    รายวิชาทักษะ   
                            ภาษาไทยเพื่ออาชีพ( 3000-1101) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิค
                            ยโสธร
ชื่อภาษาอังกฤษ :  A  Development of  Web  Based  Instruction  Thai  for the Workplace
                           (3000 - 1101) for Diploma Level in Vocational  Education of Yasothon Technical 
                           College
อาจารย์ที่ปรึกษา : ดร.สมคิด   แซ่หลี และ ดร.สรเดช    ครุฑจ้อน

1.   ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
                ความเจริญรุดหน้าทุกด้านของมนุษยชาติในปัจจุบัน  โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโลกให้เป็นหนึ่งเดียว  คอมพิวเตอร์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุก สังคมโลก  ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกวันนี้  ทำได้อย่างง่ายด้วยการคลิกเมาส์หรือกดแป้นคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร   ครูผู้สอนต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ ให้มีความน่าสนใจ  แปลกใหม่   ทันสมัย   เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม   การค้นหาข้อมูลในบางครั้งนั้น      ไม่จำเป็นต้องไปที่ห้องสมุดหรือเปิดตำราค้นคว้าอีกต่อไป    เพราะสารสนเทศและข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต  มีผลงานของนักวิชาการมารวมไว้มากมาย  เพื่อให้ทุกคนสามารถแบ่งปันกันใช้ได้อย่างง่าย  
               พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ระบุความมุ่งหมายและหลักการของการจัดการศึกษาในมาตรา  6  ว่า   การจัดการศึกษา ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข   และบัญญัติในหมวด 9 :  เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามมาตราที่  63 – 69  โดยรัฐ     จะต้องส่งเสริมสนับสนุน สื่อและเทคโนโลยี    เพื่อการศึกษา โดยเร่งรัด และพัฒนาให้โรงเรียนทุกระดับจัด  การศึกษาให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน
                 การสอนวิชาภาษาไทย  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สื่อการเรียนการสอนเข้ามาช่วย เพราะ การใช้สื่อการเรียนสอน  จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนไปแล้ว  ได้อย่างแม่นยำมากกว่าวิธีการสอนแบบธรรมดา ที่ไม่ใช้สื่อการเรียนสอนเลย    การใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร  มีความสำคัญโดยเฉพาะภาษาไทย  ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ     ทั้งเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้วิชาการต่าง ๆ    ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนภาษาอื่นใดในโลก ถ้าพิจารณาการใช้ถ้อยคำในสถานการณ์ต่างๆจะเห็นว่าภาษาไทย มีวิธีเรียบเรียงถ้อยคำอย่างมีจังหวะมีความไพเราะและมีความลึกซึ้ง สื่อความหมายได้ชัดเจน และสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทยหลายแง่หลายมุม  (ฐะปะนีย์  นาครทรรพ, 2534)  สิ่งสำคัญอยู่ที่จุดประสงค์การเรียนรู้ว่า ต้องการจะเน้นเพื่อบรรลุในเรื่องใด   เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี  มีประสิทธิภาพ  มีพัฒนาการทางภาษาไทย  สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร  ทั้งด้านการรับและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด  โดยใช้ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับและต้องอาศัยการฝึกฝน  ซึ่งยุคของสังคมข่าวสาร ได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงการศึกษาควบคู่กับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์  ก็ควรได้รับการฝึกฝนให้เกิดทักษะในทุกๆ ด้าน  ทั้งร่างกาย  สติปัญญา  จิตใจ  อารมณ์และคุณธรรม   เพื่อให้มีคุณภาพดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างสมดุล     ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้      เพื่อพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม        รวมถึงด้านการศึกษา             จึงต้องมีการจัดการศึกษา   เพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและเทคโนโลยีการศึกษา  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ(มนต์ชัย,2549 : 3) กล่าวคือ  ส่งเสริมผู้เรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  สามารถตอบสนองการเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถทางด้านสติปัญญาของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่              
                ปัญหาในการจัดการเรียนการสอน ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนและผู้เรียน   รวมถึงระบบการบริหารงานของสถานศึกษา   ครูผู้สอน  มีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง    หน้าที่หลัก คือ   การสอนตามตารางสอนและหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายพิเศษคือเป็นหัวหน้างาน รองหัวหน้างานต่างๆ ทำให้ครูมีเวลาในการสอนนักศึกษาไม่เต็มที่  ส่วนผู้เรียนต้องศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ ตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้ มีกิจกรรมของชมรมวิชาชีพหลายอย่างเป็นโครงการที่ต้องปฏิบัติ     เพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้สอดคล้องกับนโยบายของวิทยาลัย ที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นคนดี  คนเก่ง และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข    ทั้งนี้  ผู้ศึกษาได้สำรวจปัญหาจากครูผู้สอนรายวิชาทักษะภาษาไทยเพื่ออาชีพ รหัส 3000 -1101  พบว่า เนื้อหาบางหน่วยที่ครูผู้สอนต้องการให้พัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นมาใช้อย่างจริงจัง   เรียงลำดับจากมากไปน้อย   ได้แก่   เรื่อง การเขียนโครงการ  บทร้อยกรองที่ใช้ในงานอาชีพ และการพูดในโอกาสต่างๆ  เพราะเป็นเนื้อหาที่มีการประยุกต์ใช้ในรายวิชาอื่นๆ ทั้งนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  จากปัญหาในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย   น่าสนใจ และทันสมัย  โดยหารูปแบบวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกอยากเรียน อยากศึกษาหาความรู้    เมื่อได้เรียนหรือศึกษาหาความรู้แล้ว   สามารถเข้าใจในเนื้อหาสาระนั้นได้อย่างง่าย  อีกทั้ง ผู้เรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล   บางคนเรียนรู้ได้เร็ว  บางคนเรียนรู้ ได้ช้า  เพราะผู้เรียนมีพื้นความรู้เดิมไม่เท่ากัน จึงทำให้ผู้ศึกษาพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนผ่านระบบเครือข่าย ขึ้นมา  เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน    สร้างสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจในรายวิชาทักษะภาษาไทยเพื่ออาชีพ   ทั้งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงขึ้น   เพราะภาษาไทย เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในประเทศไทย  ทั้งทำให้ผู้เรียนช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นวิธีการศึกษาด้วยตนเอง (Self - directed  Learning : SDL)    ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีวิธีหนึ่ง  อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้  ตามความสามารถเป็นรายบุคคลของผู้เรียน โดยการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์และแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคลและออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  โดยใช้แนวคิดของ  Generic ID Model (ADDIE)
               จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น     ผู้วิจัยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า    วิธีการแก้ไขวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ซึ่งประกอบด้วย  เนื้อหา และสื่อการเรียน การสอน   เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสามารถของ แต่ละบุคคล (ยุทธนา, 2547: 7)  โดยสามารถทบทวนเนื้อหาได้ด้วยตนเอง    อาจใช้เวลาใด   ที่ไหนก็ได้   ที่นักศึกษาสะดวก  
             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น